วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“ส.อุตฯก่อสร้างไทย” งานรัฐไม่เข้าตลาด รับเหมากินบุญเก่ารอโครงการ งบปี 57/58

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดก่อสร้างในปี 2557 ว่า ภาพรวมตลาดปีนี้ยังทรงตัวเท่ากับปีก่อนหน้า เนื่องจากยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณ และโครงการก่อสร้างใหม่ๆ จากภาครัฐออกมา ประกอบกับการจัดทำงบประมาณประจำปี 2557 ของรัฐบาลในปีนี้มีความล่าช้ามาก เพราะเกิดปัญหาการเมืองขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถดำเนินการจัดทำงบประมาณประจำปี 2557-2558 ออกมาได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงสามารถอนุมัติให้งานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ตามแผน เชื่อว่าจะส่งผลให้ในปี 2558 อุตสาหกรรมก่อสร้างกลับมาขยายตัวในทิศทางที่ดีอีกครั้ง
     
       “ถามว่าในปีนี้เมื่อไม่มีงานใหม่ๆ เข้ามาแล้วผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างจะทำอย่างไร ก็ขอตอบว่า ต้องกินบุญเก่า หรืออาศัยรายได้จากงานก่อสร้างโครงการในสต๊อกที่มีการเช็นสัญญารับงานก่อสร้างล่วงหน้ากันในปีที่ผ่านมาๆ มาไปก่อน”
     

ทั้งนี้ การกลับมาขยายตัวของตลาดก่อสร้างนั้น คาดว่าจะเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงกลางปี 2558 หากมีการอนุมัติงานก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ออกมาจากภาครัฐตามแผนของ คสช. แต่จะมีการขยายตัวมากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับงานก่อสร้างที่ภาครัฐจะใส่เม็ดเงินเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ โดยปกติแล้วแต่ละปีรัฐบาลจะอนุมัติงบงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ต่อปีที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% งานก่อสร้างโครงการใหม่ในแต่ละปี โดยในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 400,000 ล้านบาทนั้นจะมาจากภาคเอกชน
       
       “การขับเคลื่อนของตลาดก่อสร้างจะเห็นได้ชัดเมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ ซึ่งหากมีการอนุมัติโครงการใหม่ๆ ตามคำสั่ง คสช.ในปีนี้ที่ออกมา พร้อมการจัดสรรงบประมาณการก่อสร้าง คาดว่าโครงการต่างๆ จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นการนับหนึ่งในการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง”
       
       อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักๆ ของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากอดีตที่ผ่านมา คือ ปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน ที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากในแต่ละปีวัสดุก่อสร้างจะมีการปรับราคาขึ้นในช่วงที่ดีมานด์ขยายตัวสูง ส่วนค่าแรงงานก่อสร้างนั้นจะปรับขึ้นตามดีมานด์ในตลาดเช่นกัน เช่น โครงการที่มีการอนุมัติออกมาในปี 2556 กว่าจะมีการประมูล และเริ่มงานก่อสร้างได้ต้องใช้ระยะเวลานาน หรือมาเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2557 แต่ราคาที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่กำหนดในสัญญายังคงเป็นราคาของปี 2556 ส่วนราคาค่าแรงงานนั้น ยังคงเป็นราคาเดิมที่ยังไม่มีการปรับขึ้นตามนโบบายการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลที่บังคับใช้
       
       ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวไหลกลับประเทศ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมานั้น จากการติดตามสถานการณ์ของกลุ่มสมาชิกในสมาคม พบว่า มีแรงงานในภาคก่อสร้างกลับประเทศประมาณ 8,000-10,000 ราย จากจำนวนแรงงานก่อสร้างรวมในตลาดที่มีอยู่ประมาณ 100,000-200,000 ราย อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายแล้วหลังจากที่ในช่วงต้นสัปดาห์นี้เริ่มมีแรงงานต่างด้าวทยอยเดินทางกลับเข้ามาทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ มากขึ้น
       
       “ปัญหาแรงงานยังคงเป็นปัญหาหลักที่ต้องแก้ไขโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบการขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจะทำให้เกิดการแย่งแรงงานในระบบเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ในปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปัญหาการไหลเข้าของแรงงานต่างประเทศจะมีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีการแก้ปัญหาแรงงานที่ชัดเจนออกมา”


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก ....http://www.manager.co.th/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น